|
|
|
ทัศนะของ
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความ "ไม้เรียว"
(จากหน้า2 นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 29 กย.)
ในชั่วชีวิตที่เป็นครูและพ่อ ผมทำผิดไว้มากมาย
และหนึ่งในความผิดนั้นคือไม้เรียว
เพราะนอกจากแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
ยังทำให้ปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อน
จนยากแก่การแก้ไขมากขึ้นไปอีก
บัดนี้กำลังเกิดข้อถกเถียงกันว่า
จะใช้หรือไม่ใช้ไม้เรียวในโรงเรียน
น่าเสียดายที่การถกเถียงมักจะจำกัดอยู่แต่เพียงตัวไม้เรียว
คือใช้หรือไม่ใช้ หรือใช้แบบผสม ฯลฯ
จึงจะเป็นผลดีแก่การศึกษาอบรมกุลบุตร
แต่มีอะไรอยู่เบื้องหลังไม้เรียวมากกว่าลงโทษ
เพราะไม้เรียวเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์
(หรือระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง)
ที่ตั้งอยู่บนอำนาจ โดยฝ่ายครูมีอำนาจเหนือนักเรียน
ถึงที่สุดของที่สุดแล้ว
ไม้เรียวเป็นสัญลักษณ์ว่าอำนาจเด็ดขาดอยู่กับครู
เพราะครูสามารถละเมิดทางร่างกายแก่นักเรียนได้
ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่เห็นชัดเจนที่สุด
ในขณะที่การละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อื่นๆ
ที่ครูกระทำแก่นักเรียนอาจไม่เป็นที่ประจักษ์แจ้งเท่าเทียมกัน
และรากฐานการละเมิดนั้นมาจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
ไม้เรียวเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเด็ดขาด
ไม่ว่าจะใช้มันหรือไม่ก็ตาม
ผมอยากเตือนให้ระลึกถึงตราของพรรคฟาสซิสต์
ของอิตาลีสมัยมุสโสลินีว่า คือมัดหวายและโล่
ซึ่งตำรวจโรมันโบราณเคยใช้สำหรับควบคุมประชาชน
ตราของพรรคฟาสซิสต์บอกให้ประชาชนรู้ว่า
อำนาจเด็ดขาดอันไม่ต้องตรวจสอบนั้นอยู่ที่พรรค
ไม้เรียวจึงเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์เชิงอำนาจนิยม
ถึงจะเอาไม้เรียวไปเผาหน้าโรงเรียน
หากยังมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจนิยมอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน
ก็มีไม้เรียวที่มองไม่เห็นอยู่เต็มโรงเรียนไปหมดเหมือนเดิม
อำนาจนิยมหมายความถึงความเชื่อมั่นว่า
อำนาจของบุคคลเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับการจัดการทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นการจัดการให้เกิดระเบียบในสังคม
หรือจัดการให้เกิดการเรียนรู้
และความสัมพันธ์ในโรงเรียนไทยมีลักษณะอำนาจนิยมตลอดมาและคงจะตลอดไป
ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีไม้เรียวในโรงเรียน
ตราบเท่าที่ผู้บริหารการศึกษายังติดอยู่เพียงเรื่องสัญลักษณ์
ไม่เข้าไปจับในเรื่องที่เป็นพื้นฐานที่แท้จริง
หรือเรื่องของอำนาจนิยม
และนี่คือเหตุผลที่คนไทย
โดยเฉพาะที่ผ่านระบบโรงเรียนมายาวนาน
และกลายเป็นชนชั้นนำของสังคมไทย
เป็นพวกอำนาจนิยมอย่างสุดขั้วเสมอมา
และเพราะเป็นอำนาจนิยมสุดขั้ว
จึงไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้สักอย่างเดียว
ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด พลังงาน สิ่งแวดล้อม
คอร์รัปชั่น ฯลฯ
เพราะอำนาจไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในทุกกรณี
ร้ายไปกว่านั้นในหลายกรณี
อำนาจกลับก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงเสียกว่าปัญหาซึ่งจะใช้อำนาจเป็นเครื่องมือในการแก้ด้วยซ้ำ
หลายคนคิดว่า
การเรียนรู้ในโรงเรียนจะเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยปราศจากอำนาจของครู
แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากอำนาจ
ไม่ว่าจะเป็นชั้นเรียนหรือสมาคมบิลเลียดก็มีอำนาจอยู่ทั้งสิ้น
แต่อำนาจนั้นไม่จำเป็นต้องกระจุกอยู่ที่ตัวบุคคลซึ่งอาจใช้ดุลพินิจส่วนตัวตัดสินใจโดยลำพังว่าจะใช้อำนาจเมื่อใด
ใช้อย่างไร และใช้กับใคร
ในชั้นเรียนและในโรงเรียน
มีอำนาจอย่างน้อยสามอย่างที่ควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนอยู่แล้ว
หนึ่ง คืออำนาจของเหตุผล
จะโดยวัฒนธรรมหรือโดยธรรมชาติก็ตาม
มนุษย์ในวัฒนธรรมเดียวกันมีกระบวนการคิดที่คล้ายคลึงกัน
ฉะนั้นครูจึงสามารถดึงเอาอำนาจส่วนนี้ไปควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนได้
โดยการยินยอมของคนอื่นๆ
ในชั้นเรียนและโดยการยินยอมของผู้ที่จะถูกลงโทษเองด้วยซ้ำ
เพราะต่างก็ "จำนน" ต่อเหตุผล
สอง คืออำนาจของสังคม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม
มนุษย์จึงต้อง "จำนน"
ต่อข้อเรียกร้องของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บุคคลจึงทำลายเป้าหมายที่ดีของสังคมได้ยาก
ปัญหาก็คือ สังคมวางเป้าหมายที่ไม่ดีบ้างได้หรือไม่?
ข้อนี้อาจถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ
ซึ่งผมขอไม่เข้าไปร่วมถกเถียงด้วย
แต่ใคร่ชี้ให้เห็นว่า ครู-ผู้ปกครอง-สังคมข้างนอก
ล้วนมีพลังอย่างมากในการกำกับให้เป้าหมายของสังคมชั้นเรียนวางเป้าหมายของกิจกรรมไปในทางที่ดี
โอกาสที่สังคมชั้นเรียนจะวางเป้าหมายที่ไม่ดีจึงเกิดขึ้นได้ยาก
เว้นแต่ครูไม่ทำหน้าที่ของตัวเท่านั้น
และโดยอำนาจของสังคมนี้เองที่ทำให้คนอยากมีพฤติกรรมซึ่งสังคมยอมรับ
โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี
ใช้อำนาจของสังคมเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาพฤติกรรมของนักเรียนค่อนข้างมาก
และตราบจนถึงทุกวันนี้ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้อย่างดี
โดยไม่จำเป็นต้องมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่ครูเหมือนโรงเรียนทั่วไป
สาม คืออำนาจของธรรมชาติ
การแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นอาจเป็นธรรมชาติของสัตว์สังคมเช่นมนุษย์ด้วย
นักเรียนอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากกว่าเป็นอิสระคนเดียวโดยไม่เกี่ยวกับใครเลย
นักเรียนที่ชั้นเรียนลงมติให้ออกจากห้องเรียนเพราะรบกวนกิจกรรมของชั้นเรียน
ในที่สุดก็ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสามารถกลับเข้ามาสู่ชั้นเรียนเอง
อีกประการหนึ่ง
กิจกรรมในชั้นเรียนนั้นมีลักษณะที่ดึงดูดความสนใจของวัยเด็กได้มากน้อยเพียงไร
ถ้าดึงดูดได้มากก็สอดคล้องกับธรรมชาติของวัย
อย่างไรเสีย นักเรียนก็อยากร่วมกิจกรรมอยู่แล้ว
โดยไม่มีไม้เรียว
อำนาจก็ยังมีอยู่ในทุกสังคมรวมทั้งในโรงเรียน
แต่เป็นอำนาจกลางที่ครูจะต้องใช้สติปัญญาดึงเอามาหนุนช่วยการสอนของตนเอง
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น
โรงเรียนทำงานได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจนิยม
ซ้ำยังจะทำงานดีขึ้นกว่าเดิมเสียด้วย
ชั้นเรียนที่อำนาจไม่กระจุกอยู่ที่ครูคนเดียว
จะเกิดการเรียนรู้กว้างขวางขึ้น
เพราะทุกคนต่างเป็นครูของกันและกันได้หมด ทุกคน
(รวมทั้งตัวครูเอง) ช่วยกันสอน และช่วยกันเรียน
ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ประกาศิตมาจากใครคนเดียว
แต่จะมีคำตอบที่หลากหลาย จากแง่มุมที่แตกต่างกัน
อย่าห่วงกับคำตอบสำเร็จรูปจนเกินไป
เพราะทั้งหมดนั้นมีอยู่แล้วในสารานุกรม
และโรงเรียนต้องเป็นอะไรที่มากกว่าสารานุกรม
กิจกรรมในชั้นเรียนจะถูกกำหนดและสร้างสรรค์ขึ้นโดยทุกๆ
คน จึงมีความน่าสนใจมากกว่าให้ครูเป็นกำหนดคนเดียว
และชั้นเรียนของโรงเรียนไทยก็จะเป็นสวรรค์สำหรับเด็กเสียที
หลังจากเป็นอเวจีมาเนิ่นนาน
ครูต้องใช้สติปัญญาในการจัดการเรียนรู้
ปรับแต่งกลวิธีไปได้หลายรูปแบบ
แทนที่จะท่องจำข้อมูลมาบอกให้นักเรียนจดอย่างน่าเบื่อหน่าย
(ทั้งแก่นักเรียนและตัวครูเอง)
เพราะเมื่ออำนาจกลายเป็นของกลาง
ครูก็ไม่อาจซังกะตายสอนได้อีกต่อไป
คิดไปเถิดครับ จะมีอะไรดีๆ
เกิดขึ้นกับชั้นเรียนในเมืองไทยอีกมากมาย
ถ้าไม่ปล่อยให้อำนาจกระจุกอยู่ที่ครูคนเดียว
กระทรวงศึกษาฯทำถูกแล้วที่หักไม้เรียวทิ้ง
แต่แค่นั้นไม่พอจนถึงกับไร้ความหมายทีเดียว
ถ้าไม่ตามไปรื้อทำลายระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนไปให้หมดโดยสิ้นเชิง |
|
ทัศนะของ
อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในบทความ "ไม้เรียว" |
( comments?
) |
|
|
|
|